Personal.sut.ac.th



ทฤษฎีการพยาบาลเชิงนิเวศน์นิยม :ทฤษฎีการพยาบาลของไนติงเกล

Florence nightingale : Nightingale’s Environmental Theory

ทฤษฎีการพยาบาลเชิงนิเวศน์นิยม ( Environmental ariented ) มีเพียงทฤษฎีเดียว และถือเป็นทฤษฎีการพยาบาลทฤษฎีแรก คือทฤษฎีการพยาบาลไนติงเกล

ประวัติของไนติงเกล

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้นำคนแรกของการพยาบาล เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม คศ. 1820 ในขณะที่บิดามารดากำลังเดินทางท่องเที่ยวในยุโรป บิดามารดาคือ นายเอดเวิร์ด และนางฟรังเซส จึงตั้งชื่อของท่านตามชื่อเมืองฟลอเรนซ์ ในประเทศอิตาลี เพื่อเป็นอนุสรณ์

ครอบครัวของท่านเป็นชนชั้นกลางค่อนข้างสูงที่ได้รับการศึกษาอบรมเป็นอย่างดี เคร่งครัดในจารีตประเพณี และความเชื่อถือในศาสนา บิดาเป็นผู้สอน วิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ ภาษาศาสาตร์ และศาสนศาสตร์ให้ท่านในช่วงวัยรุ่น ไนติงเกลเป็นเด็กสาวที่มีภูมิปัญญาอย่างหาตัวจับได้ยาก เป็นที่เลื่องลือในสังคม ท่านต้งการมีชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด ดังบันทึกที่เยนไว้เมื่อปี 1837 ว่า “พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงรับสั่งกับข้าฯ และโปรดประทานโอกาสข้าฯ ได้ทำงานให้พระองค์”

ในปี 1851 ไนติงเกล เดินทาบงไปที่เมือง Kaiserwerth ประเทศ เยอรมันนี เพื่อศึกษาวิชาการพยาลบาล และเมื่อเดินทางกลับมาก็ได้ตัดสินใจปฎิบัติงานในฐานะหัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลหญิงในกรุ่งลอนดอนในปี 1853 ในระหว่างสงครามไครเมีย ไนติงเกลได้เดินทางไปที่เมือง Scutari ประเทศตุรกี ได้จัดตั้งแผนกการพยาบาลขึ้น และแก้ไขปัญหาทางด้านสุขาภิบาลในหอผู้ป่วย ในช่วงเวลานั้นสตรีที่ทำงานในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการยกย่องนับถือและมีความประพฤติไม่เหมาะสม ไนติงเกล ได้รับความช่วยเหลือในการทำงานจากกลุ่ม Sister of Mercy แก้ไขสภาพการณ์ในหอผู้ป่วย ขณะนั้นที่เต็มไปด้วยความสกปรก อดอยาก ไม่มีระบบระเบียบ ไม่มีระบบถ่ายเทอากาศ มีมีเตียงผ่าตัดหรือยาสลบ ไนติงเกลจัดการปรับปรุงหอผู้ป่วยให้ดีขึ้น ท่านทำงานหนักจนกระทั่งล้มเจ็บลงด้วยโรรคไข้ไทฟัส แต่กิจวัตรที่ทำเป็นประจำคือ การเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บโดยถือตะเกียงเดินไปตามหอผู้ป่วย จึงได้รับสมญาว่า เป็นสุภาพสตรีผู้ถือตะเกียง ( The Lady of the lamp )

ไนติงเกล กลับสู่ประเทศอังกฤษ หลังจากสงครามไครเมียสิ้นสุดลง ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลขึ้น 2 แห่งที่ St. Thomas Hospital และที่ King College Hospital โดยใช้เงินทุนที่ได้รับบริจาค การให้การศึกษาอบรมพยาบาลสมัยนั้นเป็นไปอย่างใกล้ชิด ไนติงเกล เขียนจดหมายถึงศิษย์เก่าทุกคนหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ชื่อเสียงของท่านเป็นที่แพร่หลายกว้างขวางทั่วโลก สถาบันต่าง ๆ ได้ขอความร่วมมือให้ช่วยจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลขึ้น รูปแบบการศึกษาและการจัดโรงพยาบาลของไนติงเกลเป็นไปอย่างมีระเบียบวินัย เคร่งครัดเช่นเดียวกับกองทัพ ท่านเอาใจใส่ต่อสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ และความเจ็บป่วยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผลงานของท่านในประเทศอินเดีย และในกลุ่มชนชั้นต่ำในอังกฤษ ไนติงเกล ได้เขียนหนังสือหลายเล่มคือ Note on Matters Affecting the Health, Efficiency and Hospital Administration of the British Army ( 1858 ) , Notes on Sanitary State of the Army in India ( 1871 ) และ Life or Death in India ( 1874 ) เล่มที่สำคัญที่แสดงถึงแนวคิดทางการพยาบาลคือ Notes on Nursing : What it is not ( 1860 ) และมีงานเขียนในรูปจดหมายประมาณ 15,000-20,000 ฉบับ สอดแทรกความเชื่อข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงระดับสุขภาพอนามัยของสังคมชุมชนให้ดีขึ้น เมื่ออายุ 80 ปี ไนติงเกลมีปัญหาการเขียนและอ่าน เนื่องจากตาบอด แต่ท่านก็ทำงานอย่างสม่ำเสมอ ท่านถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 90 ปี ขณะนอนหลับในวันที่ 13 สิงหาคม คศ. 1910 ผลงานของไนติงเกลยังมีอิทธิพลต่อการพยาบาลจนกระทั้งปัจจุบัน

การพัฒนาทฤษฎีการพยาบาลของไนติงเกล

ทฤษฎีของไนติงเกล เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จนกล่าวได้ว่า ไม่มีทฤษฎีการพยาบาลใด ๆ ในระยะหลังที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเท่ากับทฤษฎีของไนติเกล ถือเป็นทฤษฎีการพยาบาลอี่น ๆ โดยมีลักษณะสำคัญต่อไปนี้

( 1 ) มีการระบุอย่างชัดเจนว่า การพยาบาลเป็นวิชาชีพหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากวิชาชีพทางการแพทย์

( 2 ) กำหนดมโนมติที่เกี่ยวข้องในทฤษฎีอย่างเด่นชัด เพื่ออธิบายจุดเน้น ( Focus ) กรอบอ้างอิง ( Frame of Reference) ของการพยาบาล

( 3 ) ระบุสัมพันธภาพระหว่างมโนมติ ทำให้มองเห็นแบบจำลองและประพจน์ของทฤษฎีได้อย่างชัดเจน

( 4 ) สามารถทำหน้าที่เป็นเนื้อหาร่วมไปกับการใช้กระบวนการพยาบาลเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษาพยาบาล

สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ในสมัยของไนติงเกล ยังไม่มีการค้นพบทฤษฎีจุลชีพ ( Germ’s theory ) แนวคิดของทฤษฎีจึงไม่อิงอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์แต่ขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผล และสามัญสำนึก ( Common sense ) ที่ได้มาจากประสบการณ์เป็นหลัก

คำอธิบายทฤษฎี

กรอบอ้างอิงของทฤษฎีคือ การที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มโนมติที่สำคัญคือ

สิ่งแวดล้อม : ทฤษฎีของไนติงเกล มองสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพเป็นส่วนใหญ่ โดยมองจากสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวภายในที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 5 ประการคือ อากาศบริสุทธ์ น้ำบริสุทธ์ ระบบขจัดน้ำโสโครกที่มีประสิทธิภาพ ความสะอาดและการได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ “สุขภาพ” ของบ้านขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อม 5 ประการดังกล่าว การถ่ายเทอากาศภายในบ้านหรือหอผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธ์จากภายนอก การมีน้ำสะอาดจะลดอัตราการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้น้ำสกปรกที่แปดเปื้อนด้วยของเสียสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ การระบายน้ำสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นภายในบ้าน สามารถทำโดยผ่านท่อน้ำทิ้ง ความสะอาดทั่ว ๆ ไปเป็นสิ่งจำเป็นต่อภาวะสุขภาพของบุคคล เป็นการป้องกันการเกิดโรค แสงสว่างหมายถึงการได้รับแสงแดดและอากาศจากภายนอก โดยผ่านหน้าต่าง จุดเน้นของทฤษฎีจะอยู่ที่การป้องกันภยันตรายจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป็นการให้การพยาบาลโดยตรงและเน้นไปที่การลดอัตราการเจ็บป่วย มากกว่าจะทำ กระทำให้เกิดความสุขสบายแก่ผู้ป่วยโดยตรง

ลักษณะสิ่งแวดล้อมในทฤษฎีของไนติงเกล คือสิ่งแวดล้อมที่สะอาดมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างเพียงพอ มีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และมีการกำจัดน้ำเสียอย่างเหมาะสมไม่ให้มีการปนเปื้อน

การพยาบาล : ในทัศนะของไนติงเกล กิจกรรมการให้การพยาบาล คือการจัดสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยให้สะอาด เงียบสงบ มีความอบอุ่น มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีพลังที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้ ( Vital power ) วัตถุประสงค์หลักของการพยาบาลคือ การจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดการเยียวยาโดยธรรมชาติ ไนติงเกลเชื่อว่าธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นผู้รักษาเยียวยา แพทย์ทำหน้าที่ในการตัดแขน ขา อวัยวะที่เป็นปัญหาหรือสูญเสียหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้รักษา

ภาวะสุขภาพและมนุษย์ : อยู่ในกรอบแนวคิดการป้องกันโรคระบาดหรือโรคติดต่อเป็นหลัก และครอบคลุมถึงความสามารถของบุคลากรในการหายจากโรคเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นสุขภาพในทัศนะของไนติงเกล อาจมองในภาวะความปราศจากโรค มนุษย์มีความต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้คนมีสุขภาพดี การมองมนุษย์มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่เป็นโรคกับกลุ่มที่ไม่เป็นโรค ภาวะสุขภาพและมนุษย์ แยกออกจากกันไม่ได้ ทฤษฎีไม่ได้อธิบายความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์แต่พูดถึงมนุษย์ในบริบทของภาวะสุขภาพเท่านั้น

แบบจำลองของทฤษฎี : แบบจำลองมโนมติ และความสัมพันธ์ระหว่าง 4 มโนมติ ของทฤษฎีแสดงให้เห็นได้ดังนี้ ( Torres, 1988 )

[pic]

จากแบบจำลองจะเห็นว่า มโนมติที่เป็นแกนร่วม คือมนุษย์ / ภาวะสุขภาพซึ่งเป็นจุดเน้นของทฤษฎี โดยมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำกับ การพยาบาลเป็นมโนมติที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งแวล้อมที่มีผลต่อภาวะสุขภาพของบุคคล

จากแบบจำลองของทฤษฎี ประพจน์ที่เกิดขึ้นได้แก่

( 1 ) การพยาบาลเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของบุคคล

( 2 ) ภาวะสุขภาพของบุคคลใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น

(3) การพยาบาลเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพของบุคคล โดยผ่านทางความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม

เมื่อมองลึกเข้าไปในเนื้อหาโดยละเอียดของทฤษฎี เราสามารถเขียนแบบจำลองทฤษฎีไนติงเกลได้ดังนี้

[pic]

ทฤษฎีของไนติงเกล ก่อเกิดประพจน์และฐานคติที่เกี่ยวข้องกับกับมโนมติในทฤษฎีได้มากมาย ไนติงเกลประมวลสิ่งต่าง ๆ ขึ้นจากประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วย การสังเกตพฤติกรรมของแพทย์และพยาบาล ตัวอย่างของฐานคติที่เกิดขึ้นที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ Notes on Nursing ของไนติงเกล มีดังต่อไปนี้

“ในบางระยะของการเจ็บป่วย ความร้อนของร่างกายจะลดต่ำลง ความร้อนของร่างกายที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ แสดงถึงการสูญสิ้นของพลังชีวิต ทำให้ไม่สามารถรักษาความร้อนในร่างกายไว้ได้” ( หน้า 17 )

“เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว จะทุกข์ทรมานจากความหนาวเย็น ( หรืออาการหวัด ) ในตอนเช้าตรู่มากกว่าในตอนเย็น” ( หน้า 18 )

“กิจกรรมใดก็ตาม ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง จะลดความวิตกกังวลของเขาได้มากกว่า” ( ให้ผู้อื่นช่วยทำ ) ( หน้า 38 )

“ความกังวล ความไม่แน่นอน การรอคอย ความคาดหวัง และความกลัวต่อสิ่งไม่คาดคิดต่าง ๆ ทำอันตรายต่อผู้ป่วยได้มากก่าการออกกำลังกายอย่างหนักเสียอีก” ( หน้า 38 )

“เสียงดังที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด อาจทำให้ผู้ป่วยที่กำลังหลับอยู่ตื่นผวาตื่นขึ้น เป็นผลร้ายกับตัวผู้ป่วยได้มากกว่าเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา” ( หน้า 44 )

“ผู้ป่วยที่ตื่นขึ้นหลังจากที่ได้หลับพักไปหลายชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะหลับต่อมากกว่าผู้ป่วยที่ตื่นขึ้นหลังจากหลับไปชั่วไม่กี่นาที” ( หน้า 44 )

“คนสุขภาพปกติ ถ้าพักผ่อนในตอนกลางวันแล้ว ตอนกลางคืนอาจนอนไม่หลับเลย ตรงข้ามกับคนป่วยโดยทั่วไป ยิ่งนอนมากเท่าไร ก็จะสามารถพักผ่อนได้เต็มที่มากเท่านั้น” ( หน้า 45 )

“การมอบสิ่งของที่มีรูปทรงสีสันที่แตกต่างออกไป ให้กับผู้ป่วยเป็นความหมายแสดงถึงสุขภาพหรือสภาพความเจ็บป่วยที่ดีขึ้น” ( หน้า 59 )

“ถ้าผู้ป่วยนอนไม่หลับคืนแรก ๆ อาจเกิดจากความไม่คุ้นเคย แต่ถ้านอนไม่หลับในคืนต่อ ๆ มา อาจเป็นผลจากการดื่อมน้ำชากาแฟ” ( หน้า 77 )

“การจัดห้องอย่างมีชีวิตชีวา การใช้แสงสว่างให้เพียงพอล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค” ( หน้า 85 )

“พรมที่ใช้ในห้องผู้ป่วย จะต้องทำความสะอาดปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง มิฉะนั้นเป็นจะเป็นแหล่งแพร่โรคได้อย่างดี” ( หน้า 89 )

“ให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวง จะยังดีกว่าการให้รับคำปลอบใจ หรือความคาดหวังที่ผิด ๆ จากครอบครัวเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ผู้ดูแลในลักษณะที่ทำให้เรื่องร้ายแรงกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือทำให้ผู้ป่วยสำคัญผิดว่าตนจะต้องหายขาดจากความเจ็บป่วยอย่างแน่นอน” ( หน้า 96 )

จากที่ยกตัวอย่างมา พบว่ามีมโนมติที่สามารถทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้ เช่น ความวิตกกังวล ความทุกข์ทรมาน ภาวะนอนไม่หลับ ฯลฯ ในขณะเดียวกันสิ่งที่ปรากฎ ก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของพยาบาล เช่น การให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม การลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย การรักษาไว้ซึ่งความมีพลังภายในร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น

กิจกรรมการพยาบาลดังกล่าวเหล่านี้ ยังคงปฎิบัติ อยู่กระทั่งปัจจุบัน

การประยุกต์ทฤษฎีกับกระบวนการพยาบาล

แม้ว่า กระบวนการพยาบาลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังทฤษฎีการพยาบาลของไนติงเกล กว่าศตวรรษ และในการปฎิบัติการพยาบาลของไนติงเกล จะไม่มีขั้นตอนที่เด่นชัด หลักการที่ไนติงเกลใช้ในการปฎิบัติการพยาบาล ก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันคือ การสังเกตอย่างถี่ถ้วน มีเหตุมีผล( Sound observation ) และการใช้สามัญสำนึก( Common sense ) ข้อมูลที่รวบรวมได้มาจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย และความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมผู้ป่วย การปฏิบัติการพยาบาลจะเกี่ยวข้องกับการจัดปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ( Immediate environment ) และการคงไว้ซึ่งพลังชีวิต ( Vital power ) ของผู้ป่วย เพื่อให้กระบวนการหายจากโรค หรือกลับฟื้นคืนสภาพ ( Reparative process ) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเน้นของทฤษฎีทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการพยาบาลกับการแพทย์อย่างชัดเจน และถือว่าเป็นคุณูปการยิ่งของไนติงเกล ที่มีต่อวิชาพยาบาลการปฏิบัติการพยาบาลที่เกิดขึ้น มุ่งไปที่บุคคลที่ประสบภาวะเจ็บป่วย หรือเป็นโรค คำว่า โรคเป็นกระบวนการกลับฟื้นคืนสภาพ ( Repatative process ) ปกติไม่ได้มีความหมายเฉพาะเพียงความผิดปกติในหน้าที่หรือการทำงานของอวัยวะในร่างกายเท่านั้น การหายจากโรคเป็นกลไกของธรรมชาติใจตัวผู้ป่วยเอง หน้าที่ของพยาบาลคือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กระบวนการหายจากโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ตัวอย่างในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการพยาบาล โดยใช้ทฤษฎีของไนติงเกล มีดังนี้

( 1 ) ขั้นตอนการประเมิน : วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลจากการสังเกต การจัดกลุ่มข้อมูลครอบคลุมถึง :

1. สภาพและผลของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่อผู้ป่วย

- มีเสียงดังรบกวนเกินไป ทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่ได้ หรือไม่

- การถ่ายเทอากาศเป็นอย่างไร

- ภายในห้องผู้ป่วยอบอุ่นเพียงพอ ( หรือร้อนเกินไปหรือไม่ )

- มีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ มากหรือน้อยเกินไป มีผลต่อผู้ป่วยอย่างไร

- มีการจัดบริการน้ำสะอาด สำหรับดื่มหรือใช้เพื่อความสะดวกสบายของผู้ป่วยหรือไม่

- สิ่งแวดล้อมทั่วไปสะอาด และปราศจากภยันตรายใด ๆ ต่อผู้ป่วยหรือไม่

2. อาหารและเครื่องดื่ม

- อาหารที่จัดเตรียมให้ผู้ป่วยเหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยหรือไม่ เช่น สามารถ

ช่วยเหลือตนเองในการรับประทาน หรือเคี้ยวอาหารได้หรือไม่

- อาหารนั้นมีคุณค่าอาหารเพียงพอเหมาะสมหรือไม่

- ช่วงเวลาไหน หรือเมื่อไร ที่ผู้ป่วนจะรับประทานอาหารได้มาก

- น้ำชากาแฟ มีผลต่อการพักผ่อนหลับนอนของผู้ป่วยหรือไม่อย่างไร

- ผู้ป่วยชอบอาหารแบบไหน

3. ระดับความวิตกกังวล หรือความตื่นกลัว

- ญาติ หรือผู้ที่มาเยี่ยมมีความคาดหวังอย่างไร พูดคุยกับผู้ป่วยในลักษณะอย่างไร มี

ลักษณะเปิดเผยหรือเก็บรักษาความลับต่อผู้ป่วย

- พยาบาลตอบสนองต่ออาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างไร ตรงต่อเวลา และ

ให้เวลากับผู้ป่วยอย่างเต็มที่หรือไม่

- การสื่อสารของญาติ / พยาบาลเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยเป็นอย่างไรตรงไปตรงมา

- ผู้ป่วยแสดงออกถึงความวิตกกังวลอย่างไร ทั้งจากพฤติกรรมที่แสดงออก และจากคำพูดโดยตรงของผู้ป่วยฯลฯ

4. ผลของความเจ็บป่วยต่อภาวะจิตใจ

- พฤติกรรมเป็นอย่างไร เมื่อมีไข้

- ผู้ป่วยมีปฎิกิริยาต่อความเจ็บปวดอย่างไร

( 2 ) ขั้นตอนวินิจฉัยทางการพยาบาล จุดเน้นในการวินิจฉัยการพยาบาล เน้นไปที่ความต้องการของผู้ป่วย และระดับพลังชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างข้อวินิจฉัยการพยาบาลโดยใช้ทฤษฎีของไนติงเกล

- ผู้ป่วยต้องการความอบอุ่น การถ่ายเทอากาศ การพักผ่อนนอนหลับ และ

อาหารอย่างเพียงพอ เหมาะสม

- ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากได้อาหารไม่เพียงพอ

- ผู้ป่วยไม่สุขสบายเนื่องจากความเจ็บปวด

ข้อวินิจฉัยการพยาบาล ยึดความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยสาเหตุหรือที่มาของความต้องการจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม

( 3 ) ขั้นตอนการวางแผนการพยาบาล ยึดหลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยเพื่อวางแผนร่วมกัน เช่น

- วางแผนให้ผู้ป่วยได้รับแสงแดดทุกวัน

- ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายและให้มีกิจกรมที่เหมาะสมเพื่อเป็นการรักษาระดับของพลังชีวิต

- พยายามลดเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ที่มีผลต่อการพักผ่อนนอนหลับ

- พยายามลดสิ่งรบกวนที่จะทำให้ผู้ป่วยตื่น

- หาโอกาสปรึกษาหารือกับผู้ป่วย ในการจัดสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่(Variety)

- พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการกลับฟื้นคืนสภาพโดยเร็วของผู้ป่วย

( 4 ) ขั้นตอนการปฏิบัติการพยาบาล การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการพยาบาล และสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย เช่น

- จัดหาอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

- ย้ายผู้ป่วยไปห้องอื่น เพื่อความแปลกใหม่ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพยาบาล

-ปรึกษาหารือกับครอบครัวญาติผู้ป่วย เพื่อลดความสิตกกังวลของผู้ป่วย

( 5 ) ขั้นตอนการประเมินผลปฏิบัติการพยาบาล ใช้หลักการสังเกตประเมินจากผลที่เกิดขึ้นในตัวผู้ป่วยที่สืบเรื่องจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

การวิเคราะห์วิจารณ์ทฤษฎี

ความชัดเจนของทฤษฎี ( Clarity ) : มโนมติสำคัญที่ใช้มีความเป็นนามธรรมสูง ไม่ได้นิยามให้ชัดเจน เช่น ภาวะสุขภาพ ความวิตกกังวล พลังชีวิต ฯลฯ และไม่ได้ระบุลักษณะจำเพาะ มีการใช้สลับกันไปมา เช่น คำว่า โรคกับการกลับฟื้นคืนสภาพ มีความหมายเช่นเดียวกัน สำหรับมโนมติอื่น ๆ ที่ใช้ก็แทบไม่ต้องนิยาม เพราะเป็นมโนมติพื้น ๆ เข้าใจง่าย หรือสังเกตได้ทางอ้อม ในระดับ Interference concept เช่น ความสะอาด แสงสว่าง เสียง ปัญหาของทฤษฎีคือ การที่มโนมติต่าง ๆ ไม่ได้ถูกศึกษาวิจัยเพื่อขยายความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น

ความยากง่ายของทฤษฎี (Simplicity):ทฤษฎีของไนติงเกล ประกอบด้วยสัมพันธภาพระหว่างสิ่งแวดล้อมกับบุคคล พยาบาลกับสิ่งแวดล้อม และพยาบาลต่อบุคคล ทฤษฎีระบุว่า พยาบาลทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกับสิ่งแวดล้อม ( Manipulator of Environment ) และผู้กระทำโดยตรงกับผู้ป่วยในบางครั้งสัมพันธภาพระหว่างมโนมติทั้งสามประการได้ระบุไว้อย่างชัดเจน มีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันแม้ว่าจะขาดเหตุผลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้พัฒนาในขณะนั้นในขอบเขตจำกัด กระทัดรัดเท่าที่ไนติงเกลต้องการให้เป็น

อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีของไนติงเกลมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและอธิบายปรากฏการณ์ทางการพยาบาลให้มีความชัดเจน แยกแยะการพยาบาลออกจากวิชาชีพอื่นได้ ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมพยากรณ์ ปรากฏการณ์ แท้จริงแล้วไนติงเกลไม่ได้มีความคิดที่จะสร้างทฤษฎีการพยาบาล เป็นเพียงแต่ต้องการให้นิยามการพยาบาล และวางแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคตจึงถือเป็นทฤษฎีที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน

การนำไปใช้กับทุกสถานการณ์ ( Generality ) : แม้ว่าทฤษฎีนี้จะมีมานานนับศตวรรษ แต่เนื่องจากไนติงเกล ต้องการสร้างหลักการทั่วไป ( General principles ) เพื่อให้ใช้ในวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดจึงปรากฏว่า แม้ระเบียบแบบแผน เช่น กฏระเบียบในการทำงาน การแต่งกายของพยาบาล แม้ระเบียบแบบแผน เช่น กฏระเบียบในการทำงาน การแต่งกายของพยาบาล หรือสวัสดิการในการทำงาน ฯลฯ ที่วางไว้จะเก่าหรือล้าสมัย แต่มโนมติหลักและความสัมพันธ์ระหว่างมโนมติ ก็ยังคงใช้ได้อยู่กระทั่งปัจจุบัน มีความครอบคลุม ถึงแม้ว่าจะมีอคติทางเพศ ( Sexual prejudice ) ในแง่ของการมองวิชาชีพพยาบาลว่าจะต้องเป็นวิชาชีพของสตรีเพศที่ต้องมีการอุทิศตนอย่างแน่วแน่รวมทั้งรักษากฏระเบียบต่าง ๆ อย่างเข้มงวด

การสังเกตตรวจสอบได้ ( Empirical precision ) ทฤษฎีของไนติงเกลเป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานจากมโนมติที่สังเกตได้ ประพจน์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ของมโนมติที่วัดได้สังเกตได้เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีข้อความในลักษณะคาดคะเนที่ต้องการตรวจสอบ ( Tentative, testable statements ) ไนติงเกลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการพยาบาล ที่มีพื้นฐานมากจากการสังเกตของพยาบาลแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นที่กระบวนการคิดหาความรู้อย่างเป็นระบบระเบียบหรือนัยหนึ่งการวิจัยอย่างมากมากยนัก ดังเช่น ที่ท่านกล่าวว่า ให้ “ ประสบการณ์” ของเรามากกว่าทฤษฎีที่จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจในสถานการณ์นี้ เช่นเดียวกับสถานการณ์อื่น ๆ ที่เราได้ใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้ว

การทำให้เกิดผลต่อวิชาชีพ ( Derivable consequences ) ทฤษฎีของไนติงเกลมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการพยาบาลในยุคนั้น จนกระทั่งปัจจุบันรวมทั้งผลต่อการศึกษาและวิจัยทางการพยาบาล ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ หลักการในการปฏิบัติการพยาบาล งานเขียนของไนติงเกล สะท้อนให้เห็นแนวความคิดที่เป็น “วิทยาศาสตร์” เช่น “ท่านสอนพยาบาลของท่านว่า ความคิดเห็นที่นำเสนอให้กับแพทย์นั้น อาจได้รับการยอมรับนับถือน้อยกว่าการแสดงเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” ดังนั้นพยาบาลควรสังเกตและนำเสนอข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสรุปความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทักษะในการสังเกตเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของพยาบาลไนติเกล ได้เน้นถึงความสำคัญของการสังเกตว่า “ถ้าไม่สามารถเป็นคนช่างสังเกตที่ดีได้ก็ไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นพยาบาล แม้ว่าจิตใจดีมีเมตตากรุณาเพียงใดก็ตาม” การอุทิศและความมุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพของไนติงเกลเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับพยาบาลวิชาชีพทุกคน

พื้นฐานความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งต่อศาสนา ทำให้ไนติงเกลมองการพยาบาลว่าเป็นการแสดงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ทำให้การพยาบาลเป็นการอุทิศตนที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ดังนั้นการคำนึงถึงความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในกิจกรรมการพยาบาลเพื่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเอง จึงมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนาร่วมกับความรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูก ( Self righteousness ) ในการตัดสินใจเพราะรู้ดีกว่าผู้ป่วยทำให้พยาบาลในสมัยนั้นทำกิจกรรมทุกอย่างสำหรับผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ในยุคนั้นก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการพยาบาลอยู่ด้วย

ในปัจจุบันพัฒนาการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างดี ส่งผลให้น้ำหนักหรือคุณค่าของทฤษฎีของไนติงเกลเปลี่ยนไป รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อทักษะการสังเกตข้อบ่งชี้ด้วยตนเองของพยาบาลแต่ละคนก็เปลี่ยนไป โดยที่เมื่อใช้ทฤษฎีเป็นหลักแล้วพยาบาลแต่ละคนก็จะใช้ตัวแปรหรือข้อบ่งชี้ที่ระบุอยู่ในทฤษฎี ใช้ความคิดและทักษะในกรอบของทฤษฎีเท่านั้น ในแง่หนึ่งถ้าเราพยายามขยายกรอบแนวคิดของไนติงเกล ให้กว้างขวางขึ้นก็จะพบว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ จำนวนประชากรที่มีมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ในระดับมหภาคเรายังคงมีปัญหาน้ำสะอาด อากาศเป็นพิษ การขาดสารอาหาร และอื่น ๆ ที่ยังต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน จะอาศัยเฉพาะสามัญสำนึกอย่างเดียวไม่ได้และโดยนัยนี้ทฤษฎีของไนติงเกล จะไม่เป็นทฤษฎีที่ล้าสมัยแม้แต่นิดเดียว

การยอมรับทฤษฎีในวิชาชีพพยาบาล

การยอมรับทฤษฎีของไนติงเกลในชุมชนวิชาชีพพยาบาล (Nursing Community ) จำแนกออกให้ดังนี้

( 1 ) การปฏิบัติพยาบาล ในสถานที่ที่ปัญหาด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมได้ถูกแก้ไขแล้ว ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ลดน้อยลง บางครั้งจึงเห็นว่า กิจกรรมการพยาบาล ของไนติงเกลล้าสมัย อย่างไรก็ตามการที่ไนติเกลจำแนกระหว่าง Health Nursing กับ Nursing ทำให้สามารถตีความ และนำมาเป็นประโยชน์ในแง่ของการป้องกันโรค ( Disease prevention ) ได้ และเมื่อคำนึงว่าในแต่ละสถานที่ที่พยาบาลปฏิบัติงานอยู่มีความแตกต่างกัน หลักการของไนติเกล ก็ยังมีความจำเป็นและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าเปรียบเทียบการพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในบังคลาเทศกับประเทศที่มีระบบสุขาภิบาลดีเยี่ยม จุดเน้นของกิจกรรมก็จะแตกต่างกัน แม้ว่าองค์ประกอบกิจกรรมการพยาบาลจะเหมือนกัน

( 2 ) ในการศึกษาพยาบาล ระบบการศึกษาพยาบาลที่ใช้พื้นฐานมาจากทฤษฎีของไนติงเกลนั้น ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว แต่ยังคงมีอิทธิพลในแง่ของการเชื่อมต่อระหว่างการสอน ( Didactic training ) กับการปฏิบัติ ( Practical Training ) เพราะไนติงเกลให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์. เป็นอย่างยิ่ง แนวคิดของไนติงเกลที่มีผลต่อการพัฒนาการศึกษาพยาบาลในปัจจุบันได้แก่การแยกอำนาจในการบริหารจัดการการศักษาพยาบาลออกจากโรงพยาบาล ไนติงเกลเรียกร้องไม่ให้มีการใช้แรงงานของนักศึกษาในการฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาพยาบาลไม่จำเป็นต้องขึ้นปฏิบัติงานเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาหาความรู้ สิ่งที่ไนติเกลต่อต้านมากก็คือ การสอบขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลป เพราะท่านเชื่อว่า ศิลปทางการพยาบาลนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ของแต่ละบุคคลจะจัดทำเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ยาก ความเชื่อนี้เปลี่ยนไป และมีการจัดสอบขึ้นทะเบียนพยาบาลวิชาชีพในประเทศอังกฤษ หลังจากการถึงแก่กรรมของท่านไม่นานนัก อย่างไรก็ตามสภาการพยาบาลนานาชาติ ( International Council of Nurses ) ยังคงมีการมอบเหรียญฟลอเรนซ์ไนติงเกล ให้แก่พยาบาลดีเด่นในสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับท่านมี่มีคุณูปการกับวิชาชีพในทุก ๆ ด้าน

( 3) การวิจัย : ไนติงเกลเป็นผู้ที่มีความสนใจในการเก็บรวบรวมสถิติต่าง ๆ ในหนังสือ Notes on Nursing ของท่านมีการรวบรวมสถิติชีพต่าง ๆ รวมทั้งอัตรากำลังบุคลากรทางการพยาบาลไว้ในภาคผนวก โดยคุณลักษณะส่วนตัวทำให้ไนติงเกลมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในแง่ของการเป็นแหล่งข้อมูล ไนติงเกลเห็นความสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลมาก สะท้อนออกมาในงานเขียนของท่านในโอกาสต่าง ๆ กล่าวได้ว่าวิธีการหาและสั่งสมความรู้ของท่านยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วนตัวทฤษฎีนั้นเนื่องจากเป็นทฤษฎีที่ง่ายต่อความเข้าใจ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องการการตรวจสอบ จึงไม่ก่อให้เกิดการวิจัยเพื่อตรวจสอบแต่อย่างใด

การพัฒนาทฤษฎีอย่างต่อเนื่อง : ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ทฤษฎีไนติงเกลง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในเชิงโครงสร้างมีการจัดลำดับมโนมติ และนำเสนออย่างเป็นระบบระเบียบ สิ่งที่ขาดหรือพร่องไปที่สามารถจะพัฒนาต่อได้ ก็คือ ในส่วนนิยามของมโนมติที่ปรากฏอยู่ในทฤษฎี Fizpatrick & Whall ( 1983 ) ได้ให้ทรรศนะต่อทฤษฎีของไนติงเกลว่า เป็นทฤษฎีที่ประกอบด้วยชุดของกฎต่าง ๆ ( Set of laws theory ) กฎ หมายถึง ข้อความเชิงทฤษฎีที่ผ่านการตรวจสอบและมีหลักฐานสนับสนุนแล้วอย่างท่วมท้น จึงไม่จำเป็นต้องไปพัฒนาหรือตรวจสอบแต่อย่างใด

Hardy ( 1978 ) ให้ทรรศนะว่า ทฤษฎีของไนติงเกลเป็นทฤษฎีแม่บท ( Grand theory ) ถึงแม้ว่าเป็นทฤษฎีที่ดูเหมือนจะอยู่ระหว่างการพัฒนาถ้าคำนึงในเชิงการประเมินภายใน แต่การที่มโนมติต่าง ๆ ในทฤษฎี ไม่มีนิยามที่ชัดเจนใช้ภาษาง่ายเป็นที่เข้าใจได้ทั่วไป ทำให้ตัวทฤษฎีเปิดกว้าง จะมองในมิติใดก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้และการนำไปประยุกต์ของผู้ใช้ทฤษฎี เป็นทฤษฎีที่เป็นปฐมบท ( General Orientation )ครอบคลุมปรากฎการณ์ในลักษณะมหภาคทั้งหมด

( Totality ) แสดงความถึงความสัมพันธ์ของมโนมติที่แม้จะขาดความชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบหรือพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม เราก็ถือว่า ความปราถนาของไนติงเกลในการทำให้วิชาชีพพยาบาลเป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นวิชาชีพเกิดขึ้น บรรลุสัมฤทธิผลเป็นอย่างมาก และสิ่งสำคัญก็คือ แม้ในแง่ของการประเมินทฤษฎี ทฤษฎีของไนติงเกล จัดเป็นทฤษฎีระดับต่ำ แต่ก็เป็นทฤษฎีแม่บทของทฤษฎีการพยาบาลอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง

บทสรุปทฤษฎีการพยาบาลเชิงนิเวศน์นิยม

ทฤษฎีของไนติงเกลเป็นทฤษฎีเดียวที่เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและ

บทบาทของพยาบาลในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม เป็นที่น่าเสียดายว่า ทฤษฎีการพยาบาลในยุค

ปัจจุบัน แม้ได้ผนวกเอาสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะสุขภาพ แต่ไม่ได้ขยายความ

มโนมติของสิ่งแวดล้อมในระดับจุลภาค เช่น ในหอผู้ป่วย จนกระทั่งถึงระดับมหภาค เช่น

ระดับประเทศ หรือระดับโลกให้มากเท่าที่ควรจะเป็น

บรรณานุกรม

1. Hardy, M.E. Perspective on nursing theory.

Advances in Nursing Science, 1: 37-48

2. Nigitingale, F Notes on Nursing. Philadelphia :

Lippincott. ( Originally published in 1859 )

เอกสารอ่านประกอบเพิ่มเติม รวบรวม จาก

ทฤษฎีการพยาบาล : มโนมติและแนวปฏิบัติ ของ รศ.เอื้อมพร ทองกระจาย

................
................

In order to avoid copyright disputes, this page is only a partial summary.

Google Online Preview   Download

To fulfill the demand for quickly locating and searching documents.

It is intelligent file search solution for home and business.

Literature Lottery

Related searches